google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส

 

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิสในสุนัข

(Leptospirosis in Dogs)

สาเหตุ

         โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปร่างเกลียวที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira) ซึ่งมีมากกว่า 16 สปีชีย์ และพบว่าสปีชี่ย์ Leptospira interogans เป็นชนิดที่ก่อโรค ในสปีชีย์นี้มีความหลากหลายของเชื้อมากกว่า 260 ซีโรวาร์ (serovars)  เนื่องจากความหลากหลายของซีโรวาร์นี้ ทำให้การระบาดของเชื้อแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน โรคฉี่หนู จัดเป็นโรคติดต่อสัตว์สู่คน (zoonosis) ซึ่งพบรายงานการติดเชื้อนี้ในคนอยู่ทุกปี พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยทุกชนิดสามารถติดโรคนี้ได้ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู มักเป็นตัวกักโรค (reservoir host)

 

การติดต่อ

          เชื้อก่อโรคฉี่หนู หรือเชื้อเลปโตสไปรา จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะของสัตว์มีเชื้อในระยะติดเชื้อฉับพลัน หรืออาจจะเป็นระยะที่ติดเชื้อเรื้อรังมานานแล้ว โดยสัตว์ตัวนั้นอาจจะแสดงอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลยก็ได้ โดยอาจจะมีการแพร่เชื้อได้นานหลายเดือน  โดยจะเกิดการติดเชื้อขึ้นหากมีการสัมผัสโดนปัสสาวะ หรือน้ำที่ปนเปื้อนปัสสาวะ ผ่านทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือกนสามารถติดต่อกับสุนัขได้ทุกสายพันธุ์ ทุกช่วงอายุ 

อาการ

          มักแสดงอาการป่วยหลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัว หรือ incubation period) ประมาณ 4-12 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง จะเข้าสู่กระแสเลือดและมุ่งสู่อวัยวะเป้าหมาย เช่น ไต และตับ อาจพบเชื้อได้ที่ปอด ตา และระบบทางเดินสืบพันธุ์ โดยมากมักจะเป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน (acute disease) และสามารถพบการติดเชื้อแบบเรื้อรัง (chronic diasease) ได้เช่นกัน 

          อาการทางคลินิกและความรุนแรงของโรคในสุนัขมีความหลากหลาย มีทั้งไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการรุนแรง และเกิดเสียชีวิตฉับพลัน บางรายทำให้เกิดปัญหาโรคไตเรื้อรัง โดยอาการเริ่มแรกมักพบมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร อ่อนแรง และตามมาด้วยอาการเกี่ยวกับโรคไต เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะมีเม็ดเลือดปน ปัสสาวะมากและกินน้ำมาก พบภาวะขาดน้ำ ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน เยื่อบุตาอักเสบ ภาวะตัวเหลือง หรือดีซ่าน (jaundice) ในรายที่มีอาการรุนแรงมักเสียชีวิตฉับพลันจากภาวะไตวาย หรือระบบอวัยวะภายในล้มเหลว 

          มีรายงานว่าพบอาการในระบบทางเดินหายใจเหมือนกับที่พบในคนได้ ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง เรียกกลุ่มอาการ Leptospiral pulmonary haemorrhage syndrome (LPHS) มีอาการไอ เลือดกำเดาไหล จุดเลือดออกตามตัว อาเจียนเป็นเลือด 

          นอกจากนั้นยังพบว่าสามารถทำให้สัตว์ที่ตั้งท้องเกิดการแท้งลูกได้ แต่เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ไม่บ่อย พบมากในกลุ่มปศุสัตว์มากกว่าในสุนัข


การวินิจฉัย

          เนื่องจากโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิสในสุนัขนั้น มีอาการทางคลินิกที่หลากหลาย เกิดปัญหาได้หลากระบบ สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกกับโรคอื่นๆ ซึ่งมีอาการคล้ายเคียงกับโรคฉี่หนู ซึ่ง เช่น 

          - โรคที่เป็นสาเหตุของภาวะโรคไตวายฉับพลัน (Acute kidney injury; AKI) ได้แก่  การได้รับสารพิษ เช่น ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflamation drugs;NSAIDs), เอทิลีนไกลคอน (ethylene glycol), ยาฆ่าเชื้อที่เป็นพิษกับไต (aminoglycosides) หรือโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะกรวยไตอักเสบ หรือโรคติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด และภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน เป็นต้น

          - โรคที่เป็นสาเหตุของภาวะตับวาย ได้แก่ การได้รับสารพิษ เช่น ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, สารไซลิทอล, หัวหอม หรือโรคติดเชื้อ เช่น โรคตับอักเสบติดต่อ (infectious canine hepatits; CAV-1) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เป็นต้น

          - โรคที่เป็นสาเหตุของภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ได้แก่ การได้รับสารพิษจากยาเบื่อหนู, ภาวะความผิดปกติของรบบภูมิคุ้มกัน เช่น ภาวะโลหิตจางเนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตัวเอง (immune mediated haemolytic anaemia; IMHA), ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ภาวะแทรกซ้อนเกิดลิ่มเลือดอุดตันแบบแพร่กระจาย (disseminated intravascular coagulopathy; DIC) เป็นต้น

          จากโรคที่ยกตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มีหลากหลายอาการที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคฉี่หนู ดังนั้นสัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุจากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การตรวจเลือดและตรวจเกล็ดเลือด การตรวจค่าการทำงานของเอนไซม์ตับ และไต การตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 

          ส่วนการตรวจที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคฉี่หนูนั้น สามารถใช้วิธีการตรวจทางเซรั่มวิทยา (Serological testing) ซึ่งเป็นการนำเลือดของสัตว์ป่วยไปตรวจ เพื่อหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ว่าสุนัขป่วยเคยได้รับเชื้อแล้วเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นการติดเชื้อช่วงแรกอาจจะให้ผลเป็นลบ และอีกวิธีที่สามารถตรวจได้คือการตรวจทางโมเลกุลวิทยา (molecular testing) ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อ หรือ DNA ของเชื้อในสิ่งส่งตรวจ  ซึ่งวิธีนี้อาจจะใช้เลือด หรือปัสสาวะของสุนัขที่สงสัย โดยสามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ 3 วันแรก 

 

การรักษา

          การรักษาโรคฉี่หนูนั้น เนื่องจากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงจำเป็นต้องมีการใช้ยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับการรักษาตามอาการแทรกซ้อนอื่นๆที่สามารถพบได้ โดยสัตวแพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่ม Penicilin เพื่อรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับการให้  Doxycycline อย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อถาวรที่ไต และจำเป็นต้องมีการรักษาตามอาการอื่นๆเช่น การถ่ายเกล็ดเลือด การให้ยาลดอาเจียน  การให้สารน้ำและสารอาหาทางหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งโรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง และสามารถติดต่อสู่คนได้ การป้องกันไม่สนุัขของเราเป็นโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

การป้องกัน

          การป้องกันโรคฉี่หนูในสุนัขสามารถ ทำได้โดยหารให้วัคซีนแก่สุนัขตั้งอายุ 2 เดือนเป็นต้นไป และทำการกระตุ้นทุก 1 เดือน อีกจำนวน 2 ครั้ง หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ เนื่องจากโรคฉี่หนูนั้นมีเชื้อที่หลากหลายมากว่า 260 ซีโรวาร์ แต่วัคซีนสามารถคลอบคลุม และป้องกันการติดเชื้อเพียง 4 สายพันธุ์ (ได้แก่ Leptospira canicola, L. grippotyphosa, L. icterohaemorrhagiae และ L. pomona.) ซึ่งการให้วัคซีนนั้นสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยของสัตว์เลี้ยงที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจจะมีการปนเปื้อน ดูแลไม่ให้ในบริเวณบ้านมีพาหะนำโรค เช่น หนู งดไม่ให้สุนัขออกเดินในสนามหรือพื้นที่สาธารณะในวันที่มีฝนตก หรือหลังน้ำท่วม และต้องไม่ลืมทำการกระตุ้นวัคซีนรวมประจำปีทุกปี

 

ที่มา : 

http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/th/leptospirosis.pdf 

https://bmcvetres.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12917-020-2230-0

http://www.veterinaryirelandjournal.com/images/pdf/small/sa_aug_2019.pdf

แปลและเรียบเรียงบทความโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้ (คลินิกอายุรกรรม, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 2020-09-2817:55:28

 

 

Visitors: 27,186