google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

ไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมว

 

ไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมว 

         เจ้าของสัตว์เลี้ยงเลี้ยงหลายคนอาจจะมีคำถามว่า “สุนัขและแมว สามารถติดไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้หรือไม่” หรือบางท่านจะมีความกังวลหรือสงสัย อ่านบทความนี้เพื่อรู้เท่าทัน และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 

ทำความรู้จักกับไวรัสโคโรนา  

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus; Cov) เป็นตระกูลไวรัสที่สามารถพบได้ในสัตว์และในมนุษย์ ลักษณะของไวรัสมีหนามแหลมรอบตัวคล้ายกับมงกุฎ จึงเรียก่า Corona ที่แปลว่ามงกุฎ โดยมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งที่สามารถก่อโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย หรือในปศุสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ ม้า เป็นต้น ในสัตว์ป่าที่ตรวจพบได้มีทั้งก่อโรคและไม่ก่อโรค เช่น ค้างคาว งู และแรคคูน ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็มีไวรัสเป็นสายพันธุ์ของตัวเอง ไม่สามารถส่งผ่านไวรัสสู่สัตว์ต่างชนิดกันได้ แต่มีเชื้อไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์เท่านั้นที่ส่งต่อโรคมาถึงมนุษย์ได้ (โรคติดสัตว์สู่คน Zoonotic) เช่น เชื้อไวรัสโคโรนาจากค้างคาว ทำให้เกิดโรค SARS และเชื้อไวรัสโคโรนาจากอูฐ ทำให้เกิดโรค MERS สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีการตรวจพบว่าเชื้อมีความคล้ายคลึงกับเชื้อโคโรนา ที่ทำให้เกิดโรค SARS ในค้างคาว 85 %

ไวรัสโคโรนาในสุนัข (Canine Corona Virus; CCoV) ?            

สุนัขสามารถป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ ซึ่งเชื้อนี้มีมานานแล้ว เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ลำไส้อักเสบ (เชื้อที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบมี 2 ชนิดที่พบได้บ่อยคือ พาร์โวไวรัส และโคโรนาไวรัส) และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อมาสู่คน เชื้อโคโรนาไวรัสจะทำให้สุนัขมีอาการท้องเสีย อาเจียน และการทำงานของลำไส้ผิดปกติ มีอาการปวดท้อง นอนซึม ไม่กินอาหาร เชื้อจะหลุดรอดมาพร้อมกับอุจจาระของสัตว์ที่มีเชื้อ และสุนัขจะได้รับเชื้อเมื่อกิน หรือเลียสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน เลียกินอุจจาระโดยตรง นอกจากนั้นยังสามารถแสดงอาการทางเดินหายใจได้ อาจจะทำให้เกิดอาการไอ จาม มีน้ำมูก โดยโรคนี้สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน

ไวรัสโคโรนาในแมว (Feline Corona Virus; FCoV)             

เชื้อไวรัสโคโรนาในแมว เป็นเชื้อที่รู้จักมานานแล้วและไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ และคนละชนิดกับ COVID 2019 สามารถก่อโรคกับระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารในแมวได้ ในแมวที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เลี้ยงในระบบปิด ไม่เครียด จำนวนที่เลี้ยงไม่มากนัก (ไม่เกิน5 ตัว) หากได้รับเชื้อนี้มาอาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลย และอาจจะไม่มีการปล่อยเชื้อออกมา แต่ในบางตัวที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เครียด หรือเลี้ยงเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้ก่ออาการในทางเดินหายใจส่วนต้น มีไข จาม ไอ และมีน้ำมูก รวมทั้งก่ออาการในระบบทางเดินอาหารได้ด้วย อาจจะทำให้มีไข้ ท้องเสีย และอาเจียน เป็นต้น และพบว่ามีประมาณ 5 - 10 % ของการติดเชื้อในแมวที่ เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์และทำให้โรคเกิด โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว (Feline Infectious Peritonisits) ซึ่งหากเป็นแล้วจะไม่มียารักษา ได้เพียงแค่การประคับประคองอาการ และแมวจะเสียชีวิตภายใน 1 - 3 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบมีการแสดงอาการได้ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบเปียก (Wet form) จะพบภาวะน้ำในช่องอก และช่องท้อง 2. แบบแห้ง (Dry form) จะมีอาการได้หลายระบบ ไม่จำเพาะทำให้การวินิจฉัยยาก เช่น ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต บางรายอาจจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ อัมพาต ภาวะชัก เป็นต้น และ 3. แบบผสม (Mixed form) คือมีอาการทั้งแบบเปียกและแบบแห้งผสมกัน 

       กล่าวโดยสรุป ไวรัสโคโรนา ในสุนัขและแมว เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID 2019 และไม่สามารถติดสู่คนได้ ไม่สามารถติดข้ามสายพันธุ์ได้ และสำหรับในสุนัขและแมวมีวัคซีนป้องกัน แนะนำปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการทำวัคซีน และกระตุ้นวัคซีนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

 

แปลและเรียบเรียงโดย สพ.ญ.นิรชรา ชมท่าไม้ โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก

แหล่งที่มา 

https://www.oie.int/scientific-expertise/specific-information-and-recommendations/questions-and-answers-on-2019novel-coronavirus/ 

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK92442/ 

https://www.mercurynews.com/2020/01/29/coronavirus-can-my-dog-or-cat-get-it-and-pass-it-along-to-me/ https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-26.pdf 

https://veterinarypartner.vin.com/default.aspx?pid=19239&id=4951549