google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

การดูแลและป้องกันเมื่อสุนัขมีอาการท้องเสีย

สุนัขท้องเสีย ทำอย่างไรดี ? เมื่อไหร่ต้องไปพบหมอ ? 

          อาการท้องเสียในสุนัข คือ เมื่อสุนัขมีลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนไป อาจจะนิ่มลง ท้องเสียเป็นน้ำ ท้องเสียเป็นมูกเลือด และมีความถี่ของการถ่ายมากกว่าวันละ 1-2 ครั้งต่อวัน สามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ สาเหตุที่เกิดเช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อบิดทางเดินอาหาร หรือพยาธิทางเดินอาหาร การเปลี่ยนอาหารเร็วเกินไป สุนัขไปเลียกินของสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอม การกินอาหารหมดอายุ การกินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อน เป็นต้น นอกจากนั้นหากเป็นอาการท้องเสียเรื้อรังอาจจะเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะนอกทางเดินอาหาร เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับเอนไซม์การย่อยอาหาร ตับอ่อน ตับ และไต โรคมะเร็ง เป็นต้น อาการท้องเสียมีทั้งอาการรุนแรงและไม่รุนแรง ขึ้นกับสาเหตุ ทั้งนี้เจ้าของจำเป็นต้องสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดและควรปรึกษาสัตวแพทย์

สุนัขท้องเสียทำอย่างไรดี ?

1. ให้สังเกตุว่าก่อนหน้านี้มีการกินอะไรผิดปกติ หรือสิ่งที่ไม่เคยกินมาหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนอาหาร หากมีให้หยุดหรือนำอาหารนั้นออกก่อน และงดให้สุนัขกินอาหารอย่างน้อย 12 - 24 ชั่วโมง ในสุนัขโตและ 4 - 6 ชั่วโมงในลูกสุนัข (2 - 6 เดือน) สุนัขสายพันธุ์เล็ก หรือในสุนัขน้ำหนักน้อยกว่า 5 กก. (ชิวาว่า, ปอมเมอเรเนียน)

2. ควรล้างภาชนะใส่น้ำให้สะอาด และให้สุนัขกินน้ำสะอาดครั้งละน้อยๆ บ่อยครั้ง อย่าให้มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น และเจ้าของต้องดูแลอย่างใกล้ชิดว่าสุนัขได้กินน้ำเพียงพอ

3. หากสุนัขอาการท้องเสียลดลง ไม่มีอาเจียนร่วมด้วย หลังจากงดอาหารแล้วสามารถให้สุนัขเริ่มกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย หลักเลี่ยงอาหารไขมันสูง ขนมสุนัข ไม่ควรให้สุนัขกินนม เพราะอาจจะทำให้อาการท้องเสียงแย่ลง เนื่องจากสุนัขไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ อาจจะเป็น ซุป ไก่ต้ม ไข่ต้ม หรือหากไม่สะดวกปรุงอาหารเอง สามารถเลือกซื้ออาหารประกอบการรักษาโรคท้องเสีย มีขายในโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งสัตวแพทย์จะแนะนำสูตรอาหารและปริมาณที่เหมาะสมที่ควรกินในช่วงนี้

4. ควรกินอาหารอ่อนต่อเนื่องประมาณ 2-3 วัน แบ่งเป็นมื้อย่อย 4 - 6 มื้อต่อวัน แล้วค่อยกลับมาให้อาหารปกติที่เคยกิน อย่าเปลี่ยนอาหารเร็วเกินไป อาจจะทำให้อาการกลับมาได้

เมื่อไหร่ต้องพาไปหมอ ?            

1. หากเห็นว่าสุนัขกินสิ่งแปลกปลอม ยาเบื่อหนู หรือสิ่งที่คาดว่าเป็นสารพิษเข้าไปให้รีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที เนื่องจากในบางกรณีจำเป็นต้องได้รับการล้างท้อง โดยหากเกิน 4 ชั่วโมงไปแล้วจะไม่สามารถล้างท้องได้

2. หากสุนัขมีอาการอาเจียน ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ร่วมด้วย จะทำให้สุนัขไม่สามารถกินน้ำ หรือเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ และอาจจะเกิดภาวะเสียสมดุลกรด-ด่าง หรือภาวะน้ำตาลต่ำได้

3. หากมีภาวะท้องเสียรุนแรง เช่น มีภาวะท้องเสียเป็นเลือด มีกลิ่นเหม็นคาว มีความถี่ในการถ่ายมากกว่าวันละ 1-2 ครั้ง เป็นสุนัขที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือถ่ายพยาธิมาก่อน หรือเพิ่งรับลูกสุนัขมาเลี้ยงจากแหล่งที่มีสุนัขหลายตัวรวมกัน

4. หากเป็นลูกสุนัข ควรสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงควรรับพาไปพบสัตวแพทย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำและน้ำตาลต่ำ อาจจะทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที

 ข้อแนะนำเพิ่มเติม             

1. ไม่ควรให้สุนัขกินยาแก้ท้องเสีย ยาธาตุ หรือยาอื่นๆของคน เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตราย เช่น การได้รับยาเกินขนาด ภาวะแบคทีเรียดื้อยา เป็นต้น

2. การให้สุนัขกินโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว ไม่ช่วยรักษาอาการท้องเสีย เนื่องจากแบคทีเรียนในลำไส้ของสุนัขนั้นไม่เหมือนของคน และอาการยิ่งทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้

3. ควรมั่นใจว่าสุนัขของเราได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วน มีการกระตุ้นประจำปีทุกปี และได้รับการถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน การเปลี่ยนอาหารสุนัข

4. ควรค่อยๆเปลี่ยนจากอาหารเดิม โดยค่อยๆเพื่มสัดส่วนอาหารใหม่ประมาณ 25% ประมาณ 2-3 วัน ไม่ควรให้สุนัขกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป อาจจะทำให้สมดุลแบคทีเรียในลำไส้ของสุนัขเปลี่ยนไปได้

บทความโดย:  สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้  โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก