google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

โรคลำไส้อักเสบในสุนัข

                  โรคลำไส้อักเสบในสุนัข (Canine Parvo Virus)


สาเหตุ

     เกิดจากการติดเชื้อไวรัสพาร์โวในทางเดินอาหาร พบได้บ่อยและมีความรุนแรงในลูกสุนัข (6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน)  หรือสุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมากับอุจจาระของสุนัขที่มีการติดเชื้อ 5 วันก่อนแสดงอาการ และสามารถขับเชื้อได้ราว 10 วันหลังจากสุนัขที่ติดเชื้อหายจากโรคแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกเลี้ยงสุนัขที่ติดเชื้อออกจากสุนัขปกติ เชื้อไวรัสที่ปนออกมากับอุจจารมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม สามารถคงสภาพอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายเดือน โดยติดต่อสู่สุนัขผ่านการดม เลีย หรือการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อม

     เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายเซลล์ผนังลำไส้ ต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูกได้  ส่งผลทำให้มีปัญหาการดูดซึมสารอาหาร ทำลายภูมิคุ้มกันทางเดินอาหาร เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

อาการ

     การแสดงอาการโดยทั่วไปประมาณ 5-7 วัน หรือสุนัขบางตัวอาจจะยาวถึง 2 สัปดาห์ได้                           อาการทางคลินิก

  • ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้

  • อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเหลวเป็นเลือดภายใน 24-48 ชั่วโมง

  • มีภาวะขาดน้ำ เหงือกซีดและแห้ง ไม่มีแรง

  • หากคลำตรวจจะปวดเกร็งท้อง เนื่องจากลำไส้มีการอักเสบและขยาย

  • หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะมีอาการช็อค หมดสติ น้ำตาลต่ำ และเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

     สัตวแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการทางคลินิก ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ หากตรวจเลือด มักจะพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะขาดอิเลคโตรไลท์ และภาวะน้ำตาลต่ำ หรืออาจจะพบภาวะค่าเอนไซม์ตับและไตสูงกว่าปกติได้ แและการตรวจด้วยชุดทดสอบไวรัสพาร์โว (Parvovirus TestKit) เพื่อเป็นการตรวจหาเชื้อในอุจจาระ ซึ่งอาจจะตรวจไม่พบเชื้อได้หากเป็นการติดเชื้อในระยะแรก หากสุนัขมีอาการทางคลินิกแต่ให้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง

นอกจากอาการข้างต้น อาจจะพบอาการแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆได้เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception) การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ  ภาวะทางเดินหายใจและหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือการเสียชีวิต 


การรักษา

     การรักษาการติดเชื้อไวรัสพาร์โวไม่มียาเพื่อไปทำลายเชื้อได้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นการรักษาตามอาการของโรค และการป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ในระยะ 24 ชั่วโมงแรกสัตวแพทย์อาจงดน้ำไและอาหารเพื่อลดการทำงานของลำไส้

การรักษาตามอาการ เช่น

  • การแก้ไขภาวะขาดน้ำ อาจจะให้สารน้ำทางใต้ผิวหนังหากมีการขาดน้ำไม่มาก หากมีภาวะน้ำตาลต่ำหรือภาวะไม่สมดุลอิเลคโตรไลท์ในเลือดจะพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือด

  • การให้ยาตามอาการเช่น ยาระงับอาเจียน ยาลดปวด ยาเคลือบกระเพาะ เป็นต้น

  • การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือรักษาภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด

  • การให้สารอาหารทางเส้นเลือด 

  • การให้ยากระตุ้มภูมิคุ้มกัน หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน


การป้องกัน

     เพื่อป้องกันการติดต่อลูกสุนัขที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบควรหลีกเลี่ยงสุนัขตัวอื่นๆ หรือสถานที่ที่มีสุนัขมารวมตัวกัน เช่นสวนสาธารณะ ตลาดนัด เป็นต้น โดยวัคซีนจะเริ่มต้นที่สุนัขอายุ 2, 3 และ 4 เดือน และกระตุ้นซ้ำที่อายุ 1 ปี 

สุนัขที่หายจากการเป็นโรคลำไส้อักเสบควรถูกแยกเลี้ยงอย่างน้อย 1 เดือน และบริเวณที่เลี้ยง ภาชนะต่างๆควรฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว (1:30) อย่างน้อย 15 นาที 

 

ที่มา : https://www.msdvetmanual.com/digestive-system/diseases-of-the-stomach-and-intestines-in-small-animals/canine-parvovirus

https://www.dovepress.com/canine-parvoviral-enteritis-an-update-on-the-clinical-diagnosis-treatm-peer-reviewed-fulltext-article-VMRR#

แปลและเรียบเรียงโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้ (คลินิกอายุรกรรม, โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)