google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

เชื้อบิดทางเดินอาหาร (Giadiasis)

เชื้อบิดไกอาเดีย (Giadiasis)


วงจรชีวิต


                เชื้อบิด หรือเรียกอีกอย่างว่า เชื้อโปรโตซัว (Protozoa) ชื่อว่าเชื้อบิดไกอาเดีย (Giadia Lambia) สามารถพบเชื้อได้ลำไส้ในสัตว์ทั่วไป สุนัข แมว สัตว์ในปศุสัตว์ นก รวมทั้งในคนด้วย โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ที่ผนังลำไส้ และคอยดูดซึมสารอาหารและเเบ่งตัวภายในลำไส้ หลังสัตว์เลี้ยงได้รับเชื้ออาจจะแสดงอาการภายใน 3-10 วัน และสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อจะปล่อยเชื้อในลักษณะของซีสต์ (Cyst) ปนออก มากับอุจจาระได้นานเป็นสัปดาห์ และซีสต์สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอก ติดตามพื้น จาน ชาม อาหาร แหล่งน้ำ หรือพื้นหญ้า เศษใบไม้ ซิสต์อยู่ได้นานหลายสัปดาห์ หากสัตว์เลี้ยงไปเลียบริเวณที่มีซีสต์ หรือสัมผัสอุจจาระที่มีเชื้อ โดยบังเอิญก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อบิดไกอาเดียได้ หรือในคนเองก็สามารถติดได้จากช่องทางเดียวกัน 


การติดต่อในสัตว์เลี้ยง

  • กินอุจจาระทั้งโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญ

  • สัตว์เลี้ยงไปเหยียบอุจจาระมาแล้วมาเลียเท้าตัวเอง

  • กินหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อระยะติดต่อเข้าไป

  • กินน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดและมีเชื้อเข้าไป


อาการ

          เชื้อบิดไกอาเดียเข้าไปทำลายผนังลำไส้ และลดการทำงานของเอนไซม์ต่างๆในลำไส้ ทั้งสองสาเหตุทำให้การดูดซึมสารอาหาร น้ำ และอิเลคโตรไลท์ลดลง ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการภาวะท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด หรือในบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการ ลักษณะของอุจจาระจะมีลักษณะนิ่ม ไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง สีอ่อน มีกลิ่นเหม็น มีเมือกมากกว่าปกติ หรือมีไขมันมาก หรือบางรายที่เป็นรุนแรงอาจจะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมีเลือดปน มีอาการอาเจียน ขาดน้ำได้ ซึ่งสามารถพบได้ไม่มาก ส่วนมากเป็นการติดเชื้อเรื้อรังแบบไม่แสดงอาการมากกว่า แต่อาจจะแสดงอาการร่วมกับกับการติดเชื้อทางเดินอาหารอื่นๆ

การวินิจฉัย

          สัตวแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติ อาการร่วมกับการส่องตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่การไม่พบเชื้อในอุจจาระอาจจะไม่ได้หมายความว่าสัตว์เลี้ยงนั้นไม่มีการติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อบิดไกอาเดียจะปล่อยซีสต์ออกมาเป็นระยะ (intermittently shed) จึงอาจจะทำให้ตรวจไม่เจอได้ ถ้าหากยังสงสัยแต่ตรวจไม่พบเชื้อในตัวอย่างอุจจาระ อาจจะต้องทำการตรวจซ้ำในวันถัดไป หรือใช้วิธีการตรวจด้วยชุดทดสอบ (ELISA)

การรักษา

         สัตวแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาถ่ายพยาธิร่วมกับยาปฏิชีวนะประมาณ 7-10 วัน และในรายที่มีการท้องเสีย อาเจียน หรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วยจะแนะนำให้เข้าพักการรักษาให้น้ำเกลือเพิ่มเติม สำหรับลูกสุนัขและลูกแมว หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ อาจจะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด ฝากรักษา 24 ชั่วโมง เพราะอาจจะเกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ดังนั้น หากสัตว์เลี้ยงมีอาการขับถ่ายผิดปกติ  น้ำหนักลดควรรีบไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาทันที

การป้องกัน

  • ทำความสะอาดอุจจาระในบริเวณที่สัตว์เลี้ยงขับถ่ายให้เร็วที่สุด เพื่อลดการปนเปื้อน หรืออย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

  • ทำความสะอาดชามน้ำ ชามอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ และผึ่งให้แห้ง ช่วยลดการปนเปื้อนได้

  • การทำความสะอาดพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 5 - 20 นาทีจึงล้างออก และจากนั้นจึงปล่อยให้แห้ง

  • คอยตรวจเช็คและทำความสะอาดเท้าของสัตว์เลี้ยงหลังจากออกไปนอกบ้านมา เพื่อป้องกันการเลียกินเข้าไป

  • ถ่ายพยาธิเป็นประจำช่วยลดการติดพยาธิทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อบิดฉวยโอากาสและก่อโรค

 

เรียบเรียงโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้  (คลินิกอายุรกรรม, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)

ที่มา  

https://www.msdvetmanual.com/digestive-system/giardiasis-giardia/overview-of-giardiasis

http://beckeranimalhospital.net/blog/giardia/