google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

แมวสื่อสารอย่างไรกันนะ ?

 

      เนื่องจากแมวมีต่อมกลิ่นจำนวนมากอยู่บริเวณตัว เช่น บริเวณผิวหนังรอบๆ หัว โคนหางและบริเวณฝ่าเท้า แมวสามารถปล่อยกลิ่นจากต่อมเหล่านี้โดยการถูด้านข้างของใบหน้า หรือบริเวณคาง บนสิ่งของ ถูใบหน้ากับแมวตัวอื่นๆ หรือถูตัวและใบหน้ากับคน บางครั้งแมวจะทำท่าข่วนพื้นบ้าน ฝาบ้าน ผนังบ้าน หรือต้นไม้ เพื่อจะปลดปล่อยกลิ่นเฉพาะตัวของแมวตัวนั้นๆ ออกจากบริเวณฝ่าเท้า ให้กลิ่นตัวแมวติดตามบริเวณหรือสถานที่ที่แมวอยู่

 

     นอกจากนี้พฤติกรรมการปัสสาวะและอุจจาระของแมวแต่ละตัว ต่างถือเป็นการแสดงถึงความ เป็นเจ้าของสถานที่ หรือความเป็นเจ้าของ การที่แมวปัสสวะทั่วบริเวณบ้านเป็นสัญญลักษณ์ของการเป็น เจ้าของ พบได้บ่อยในแมวเพศผู้ ซึ่งนอกจากจะแสดงความเป็นเจ้าของสถานที่แล้ว อาจแสดงถึงความ ไม่มั่นคงด้านจิตใจของแมวได้ พบว่าการอุจจาระของแมวเป็นประจำในบริเวณใดบริเวณหนึ่งจัดเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างอาณาจักรสวนตัวของแมวตัวนั้นเช่นกัน เมื่อแมวตัวที่แปลกปลอมเข้ามาในบริเวณ ที่ได้มีการปล่อยกลิ่นของแมวเจ้าของถิ่นไว้ แมวตัวที่มาใหม่จะตอบสนองเรียกว่า "Fleshmen Response" คือ การที่แมวยกริมฝีปากบนขึ้นสูงจนเห็นเขี้ยวหน้าทั้งสองข้างของฟันบนเพื่อที่จะสูดกลิ่นที่พบเข้าสู่ต่อม ที่เรียกว่า "Jacobson's orgอn" ซึ่งเป็นต่อม vomeronaal gland เพื่อพิสูจน์กลิ่นที่ได้รับ การแสดงท่าสูดกลิ่น ดังกล่าวจะพบได้บ่อยในช่วงเวลาที่แมวเป็นสัด

 

     แมวหลายตัวมักชอบส่งเสียงต่างๆ เมื่ออยู่กับ เจ้าของเสมือนการพูดคุยกับเจ้าของ ในแมวบางพันธ์พบว่าชอบส่งเสียงท้าทายกับเจ้าของเป็นพิเศษ เช่น แมวพันธุ์ไทย และกลุ่มแมวแถบประเทศเอเซีย ซึ่งมักจะส่งเสียงเหมือนคุยกับเจ้าของเก่งกว่าแมวพันธุ์อื่นๆ แมวจะร้อง "เหมียว" เพื่อทักทายหรือเมื่อใกล้ชิดกับเจ้าของแต่มักไม่ร้องเหมียวระหว่างแมวด้วยกัน

     การเล่นลูกคอ หรือ "Purring" เป็นการส่งเสียงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในแมว บางครั้งเป็น การแสดงออกว่าแมวกำลังตั้งใจทำอะไรสักอย่าง หรือมีความต้องการที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นพิเศษ แสดงถึงการอยากประจบเจ้าของ เสียงนี้จะได้ยินเมื่อแมวมีอารมณ์ดี เมื่อเจอเจ้าของหรือแมวตัวอื่นที่เป็นมิตรต่อกัน อย่างไรก็ดีแมวที่เล่นลูกคอหรือ Purring เหล่านี้อาจพบได้ในแมวที่มีความเจ็บปวดของร่างกาย (Pain) หรือในแมวที่มีภาวะเครียดได้เช่นกัน

 

     เสียงอีกประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยในแมวที่เครียดจัดหรือกำลังอยู่ในอารมณ์โกรธ เพื่อเป็น การขู่แมวหรือสัตว์ที่ไม่ต้องการให้เข้าใกล้ตัวแมว มักเป็น เสียงขู่ (growling, hissing) ซึ่งมักแสดงออกพร้อมกับท่าทางของร่างกาย แมวจะเพิ่มความดังของเสียงขึ้นตามลำดับของความเครียดที่เกิดขึ้นเพื่อ เป็นการขู่ฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เข้าใกล้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวแมว หากจวนตัวขั้นตอนต่อไป ที่แมวจะแสดงออกต่อจากเสียงขู่ก็คือ แมวจะข่วนและกัดโดยทันทีหากฝ่ายตรงข้ามยังดื้อดึงที่จะเข้าใกล้ตัวแมวตัวนั้นๆ อีก

 

ผู้เรียบเรียง : สพ.ญ.นิรชรา ชมท่าไม้ คลินิกอายรุกรรม

ที่มา : รสมา ภู่สุนทรธรรม, เวชศาสตร์โรคแมว, 2561, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย