โรคทอคโซพลาสโมซิสในแมว (Toxoplasmosis)
โรคทอคโซพลาสโมซิสในแมว (Toxoplasmosis)
สาเหตุ โรคทอกโซพลาสโมซีสเกิดจากเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii พบครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1908 โดยมีแมวเป็นโฮสต์หลัก (definite host) สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นโฮสต์ที่ติดโดยบังเอิญ (intermediate host) เชื้อนี้สามารถเข้าสู่เซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดและมีการแบ่งตัวโดยไม่อาศัยเพศภายในเซลล์นั้นจนทำให้เซลล์ถูกทำลายในที่สุด ในสัตว์ที่มีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายสูง การแบ่งตัวจะถูกยับยั้ง แต่จะเกิดแต่ระยะซีสต์แฝงอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายโฮสต์ สามารถมีชีวิตได้นานตลอดชีวิตของโฮสต์ สัตว์สามารถติดเชื้อนี้โดยการบังเอิญกินเชื้อนี้ทุกระยะ หรืออาจติดเชื้อผ่านทางรก แมวสามารถติดเชื้อผ่านทางน้ำนมได้ http://www.eidas.vet.chula.ac.th/th/system/files/txp_002.jpg
ส่วนใหญ่แมวจะติดเชื้อจากการกินหนูหรือสัตว์ขนาดเล็กที่มีเชื้อระยะซีสต์อฝังในเนื้อเยื่อ เมื่อแมวกินเข้าไปจะเกิดการแบ่งตัวในเซลล์บุผนังลำไส้ และถูกขับเชื้อออกมากับอุจจาระของแมวภายใน 3-21 วัน ซึ่งเชื้อระยะที่ปล่อยออกมากับอุจจาระแมวนี้เรียกว่า โอโอซิสต์ (oocysts) สามารถทนทานอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี และทนทานต่อยาฆ่าเชื้อ
อาการ ส่วนใหญ่แมวที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เจ้าของเห็น บางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติที่รุนแรงได้และบางสายพันธุ์อาจชอบอวัยวะใดเป็นพิเศษ เช่น มักก่อให้เกิดวิการที่ตาของแมว ทำให้แมวตาผิดปกติ ในแมวที่มีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เช่น แมวป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ แมวที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจทำให้มีอาการผิดปกติของโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การติดเชื้อแบบเรื้อรังพบได้ในแมวที่แสดงอาการผิดปกติอย่างเรื้อรังของหลายระบบของร่างกาย ม่านตาอักเสบ (uveitis) มีไข้ กล้ามเนื้อไวต่อความเจ็บปวด (muscle hyperesthesia) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ร่วมกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร ชัก เดินเซ ดีซ่าน ท้องเสีย หายใจลำบาก หรือตับอ่อนอักเสบ
วงจรการติดเชื้อจากอึแมวเข้าสู่ทารกในครรภ์ https://www.amarinbabyandkids.com/app/uploads/2018/08/gr1.jpg
การป้องกัน การป้องกันแมวไม่ให้ติดเชื้อสามารถทำได้โดย เลี้ยงแมวแต่ในบ้านและไม่เลี้ยงปล่อย ป้องกันไม่ให้แมวมีโอกาสล่าเหยื่อหรือกินเนื้อสัตว์ดิบ กำจัดแมลงสาบ เนื่องจากแมลงสาบสามารถติดเชื้อในระยะโอโอซิสต์ได้ โรคนี้จัดเป็นโรคสัตว์ติดคน (zoonosis) ที่สำคัญ โดยเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งหากติดเชื้อจะก่อให้เกิดความผิดปกติ ลูกเสียชีวิตในท้อง แท้ง โรคระบบประสาทและโรคตา ดังนั้นจึงต้องป้องกันการติดเชื้อนี้
ที่มา : รสมา ภู่สุนทรธรรม, เวชศาสตร์โรคแมว, 2561, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้ (คลินิกอายุรกรรม, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก) |