google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

5 เคล็ดลับน้องหมาสุขภาพดี

 

5 เคล็ดลับ น้องหมาสุขภาพดี

1. กินดี

คำกล่าวที่ว่า You are what you eat. สามารถใช้ได้ทั้งในคนและในสุนัข สำหรับสุนัขแล้วการกินดี หมายถึง การที่สุนัขได้รับอาหารที่ตรงกับความต้องการพลังงานในช่วงนั้น โดยแปรผันตามอายุ เพศ สายพันธุ์ กิจกรรมในช่วงนั้น เช่น ลูกสุนัข หือสุนัขตั้งท้องจำเป็นต้องได้รับอาหารที่พลังงานสูง มีโปรตีนมากกว่าสุนัขช่วงอื่นๆ เนื่องจากมีความต้องการการใช้พลังงานมาก หรือ สุนัขสายพันธุ์ใหญ่ มีกิจกรรมทำตลอด ก็ต้องการพลังงานมากกว่า และต้องการวิตามินบำรุงกระดูกและข้อ มากกว่าสุนัขสายพันธุ์เล็ก เป็นต้น มักมีคำถามจากเจ้าของว่า “สุนัขกินอาหารคนได้หรือไม่ ? ” คำตอบ คือได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการ และอาหารนั้นไม่เป็นพิษต่อสุนัข และไม่ควรให้อาหารชนิดเดิมซ้ำกันนานๆ ทุกวัน ควรสับเปลี่ยนให้หลากหลาย เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุบางชนิด

 

2.อยู่ดี

ที่นอนสะอาดต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เนื่องจากในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแบคทีเรียและเชื้อราที่อยู่ตามทั่วไป ถ้าเราไม่ทำความสะอาดอาจจะทำให้สุนัขของเราติดเชื้อราจากสิ่งแวะล้อมได้ง่ายขึ้น นอกจากที่นอนแล้วบริเวณรอบบ้าน หรือภายในบ้านเองก็ควรจะมีการทำความสะอาด และควรใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บเพื่อป้องกันเห็บบ้าง ถ้าบ้านไหนที่มีปัญหาเห็บอยู่แล้วอาจจะเพิ่มความถี่ โดยทั่วไปประมาณเดือนละ 1-2 ครั้ง ต้นไม้หญ้าที่รกสูง เศษกองใบไม้ภายในบ้าน ก็ควรเก็บออกดูแลให้หมด เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเห็บ หมัดได้ และยังอาจจะเป็นที่ซุกซ่อนตัวของ งู คางคก ตะขาบ ซึ่งเป็นอันตรายทั้งกับคนและสัตว์เลี้ยงด้วย ของแมวแน่นอน

 

3.อารมณ์ดี

สุนัขเองก็มีอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดีเหมือนกับในมนุษย์เรา สนุัขที่มีความเครียดมักมีการแสดงออกของพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เลียมือแทะเลียตัวเองมากกว่าปกติ เห่าโดยปราศจากสิ่งเร้า การไม่กินอาหาร หรือเบื่ออาหาร บางตัวฉี่ไม่เป็นที่ หรือเปลี่ยนที่ขับถ่าย บางตัวอาจจะมีพฤติกรรมความก้าวร้าวได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุได้ทั้งจากความผิดปกติทางร่างกาย การเจ็บป่วย หรืออาจจะมีผลมาจากสภาพจิตใจ เช่น การห่างจากเจ้าของเป็นเวลานาน การสูญเสียเพื่อนสมาชิก การให้เวลากับสุนัขมากขึ้น การพาไปออกกำลังกาย พาไปเดินเล่น มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างเจ้าของและสุนัข ก็จะทำให้น้องสุภาพจิตใจดี อารมณ์ดี

 

4.ป้องกันต่อเนื่อง

สุนัขจำเป็นต้องได้รับการป้องกันโรคต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากประเทศไทยยังถือเป็นแหล่งระบาดของโรคติดต่อมากมาย บางโรคสามารถติดต่อมายังคนได้ เช่น พิษสุนัขบ้า พยาธิทางเดินอาหารบางชนิด พยาะิหนอนหัวใจ โรคฉี่หนู นอกจากนั้นโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านการถูกเห็บ และหมัดกัด เช่นกลุ่มโรคพยาธิเม็ดเลือด ยังเป็นโรคที่อันตราย ง่ายต่อการกลับมาเป็นซ้ำ และยังมีค่ารักษาสูง ดังนั้นการป้องกันก่อนการเป็นโรคจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า

หากสุนัขของเราขาดการฉีดวัคซีนหรือการป้องกันโรคต่างๆไป แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ถึงแนวทางการป้องกันโรคต่อเนื่อง

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุก 1 ปี
  • ถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน
  • ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจทุก 1 เดือน
  • ป้องกันเห็บ หมัด ปรสิตภายนอกทุก 1 เดือน

 

5.ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

เพราะสุนัขแก่เร็วกว่าเรา และเมื่อเวลาเขาเจ็บป่วย เขาไม่สามารถบอกเราได้ เราจึงควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ และควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรตรวจถี่มากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 5 ปี เนื่องจากถือว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย

 

บทความโดย : สพ.ญ.นิรชรา ชมท่าไม้ คลินิกอายรุกรรม