google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

ไรในหู (Ears mite)

ไรในหู (Ear mite)


วงจรชีวิต

          ไรในหู (Otodectes cyanotis) จัดเป็นแมลงที่ดำรงชีวิตแบบพยาธิภายนอกบนสุนัข แมว กระต่าย และพบได้ในเฟอเร็ท โดยส่วนมากจะพบมากในช่องหูแต่จริงๆแล้วสามารถเติบโตบนผิวหนังได้ด้วย ซึ่งสามารถติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยงได้ง่ายมากจากการสัมผัสโดนกัน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาจึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

          วงจรชีวิตของไรในหูจะใช้เวลาฟักจากไข่ ลอกคราบเป็นตัวอ่อน จนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ โดยอาศัยเศษขี้หูและน้ำมันจากผิวหนังในช่องหูเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยจะใช้ชีวิตอยู่ในช่องหูของสุนัขและแมวโดยได้นานถึง 2 เดือน ในระหว่างนี้ตัวเต็มวัยก็จะวางไข่ได้จนกว่าจะตาย

อาการ

ไรในหูสามารถติต่อทั้งสุนัขและแมวได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะลูกสุนัขและลูกแมว และสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงอยู่นอกบ้าน อาการที่พบได้มีดังนี้

  • คันหู เกาหู หรือมีการสะบัดหัวบ่อยครั้งมีขี้หูสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำจำนวนมาก
  • ขนร่วงหรือมีแผลบริเวณใกล้ๆกับหูเนื่องจากการเกาผิวหนัง
  • คราบหรือสะเก็ดบริเวณช่องหู
  • บางตัวเกิดอาการเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหูแตกจนเกิดอาการคั่งเลือด (Aural hematoma) เนื่องจากการเกาอย่างรุนแรง

การรักษา

          การรักษาโรคไรในหูของสุนัขและแมว จะใช้การทำความสะอาดช่องหูและใบหู ร่วมกับยาหยอดที่ช่องหูโดยตรง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างน้อย 3 - 4 สัปดาห์ สัตวแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดหลังคอเพื่อรักษาและป้องกันร่วมด้วย ความถี่ในการหยอดคือทุก 2 สัปดาห์สำหรับการรักษา และทุก 1 เดือนสำหรับการป้องกัน ไม่มียาตัวใดที่สามารถทำลายไข่ (eggs) และตัวอ่อนระยะดักแด้ (pupae) ได้ โดยปกติยาสามารถทำลายตัวอ่อนระยะแรก (larvar) และตัวเต็มวัย (adult) ได้เท่านั้น ดังนั้นระยะเวลาการรักษาต้องคลอบคลุมอย่างน้อย 3 สัปดาห์

เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ ควรทำดังต่อไปนี้

  • รักษาสัตว์เลี้ยงทุกตัวในบ้านพร้อมกันทั้งหมด
  • รักษาผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อร่วมด้วย
  • ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น พรมเช็ดเท้า ผ้าปูที่นอน หรืออุปกรณ์ต่างๆของสัตว์เลี้ยง
  • งดห้ามสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน หรือไปเจอตัวอื่น
  • ทำการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างน้อย 3 สัปดาห์

การป้องกัน

          ถ้าหากพบว่าสัตว์เลี้ยงของเราติดไรในหูควรรีบพาไปปรึกษาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับสัตวแพทย์ เนื่องจากมีการติดต่อกันได้ง่าย แนวทางการป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ซึ่งมีดังนี้

  • แปรงขนร่วมกับตรววจเช็คใบหูของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกวัน หากพบว่ามีขี้หูผิดปกติต้องรีบจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น
  • หากมีตัวใดตัวหนึ่งในบ้านเป็นควรจัดการทุกตัวในบ้านให้ได้รับยาป้องกันที่เหมาะสม และควรแยกเลี้ยงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • ทำความสะอาดซักและตากแดดที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน หรือพบกับสัตว์ตัวอื่น

บทความโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่าไม้ (คลินิกอายุรกรรม, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)