google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

การป้องกันเห็บ

 

การป้องกันเห็บ 

วงจรชีวิตของเห็บ

          เห็บโดยส่วนมากจะพบบนตัวสุนัข แต่ก็สามารถพบบนสัตว์อื่นๆ เช่น แมว หรือคนได้ ในประเทศไทยมีหลายสายพันธ์ุมีโฮสต์จำเพาะแตกต่างกัน วงจรชีวิตของเห็บนั้นจะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม เกิดลอกคราบและการวางไข่ตามพงหญ้า ดิน โคนต้นไม้ และจะขึ้นบนตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อกินเลือดเป็นครั้งคราว พบการระบาดมากในฤดูฝนและฤดูร้อนมากกว่าปกติ เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมต่อการฟักไข่ และเห็บสามารถอยู่รอดได้โดยไม่กินเลือดได้นานเป็นปีๆ

          หากสุนัขออกไปเดินตามหญ้าสูง หรือที่อับชื้น เห็บที่อาศัยอยู่ตรงนั้นก็จะใช้เท้าเกี่ยวตามขนหรืออุ้งเท้าของสุนัข เนื่องจากเห็บไม่สามารถกระโดดหรือบนได้ หรือบางครั้งสุนัขอาจจะไปดมหรือคุ้ยเศษหญ้า เห็บก็จะติดขึ้นมาตามใบหน้าได้ บางตัวอาจจะเผลอกินเห็บเข้าไป

อาการ

  • อาการเฉพาะที่ ถ้าหากมีการดึงเห็บผิดวิธี จะทำให้เขี้ยวของเห็บฝังอยู่ในผิวหนังสุนัข อาจจะทำให้เกิดอาการคัน หรือเป็นผื่นแพ้ที่ผิวหนังตามมาได้
  • อาการทางระบบ หากสุนัขถูกเห็บกัด หรือบังเอิญกินเห็บเข้าไปอาจเกิดการติดเชื้อริกเกตเซีย (rickettsia) ซึ่งเป็นสาเหตุของพยาธิเม็ดเลือดได้ ในเมืองไทยยังไม่พบรายงานการติดเชื้อจากเห็บสุนัขในคนแต่พบรายงานจำนวนมากในต่างประเทศ การติดเชื้อพย่ธิเม็ดเลือดมีความรุนแรงของโรคหลายระดับขึ้นกับภูมิต้านทานของร่างกาย และความรุนแรงของเชื้อที่ติดจากเห็บ อาการของพยาธิเม็ดเลือดที่อาจจะพบได้ เช่น
    • ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร
    • เหงือกสีซีด เนื่องจากมีภาวะโลหิตจาง
    • เลือดออกง่าย เลือดหยุดไหลยาก
    • มีจ้ำเลือดที่ผิวหนัง ตามท้อง
    • ต่อมน้้ำเหลืองโต

การรักษา

          หากพบเห็บบนตัวสัตว์เลี้ยงควรปฏิบัติดังนี้ให้เก็บเห็บออกให้เร็วที่สุด หรือทันที่ที่พบ โดยวิธีการดึงเห็บออกจากตัวสุนัขที่ถูกต้องคือการใช้ที่คีบหรือแนบคีบออกโดยพยายามคีบที่ตัวเห็บโดยให้ชิดผิวหนังที่สุด และค่อยๆดึงออกเบา ห้ามบิดหมุนหรือดึงออกอย่างแรงเพราะมีโอกาสที่เขี้ยวของเห็บจะขาดและฝังที่ผิวหนังสัตว์เลี้ยง ก่ออาการแพ้ตามมาได้ หลังจากดึงเสร็จแล้วไม่ควรใช้มือบี้เห็บ หรือโยนทิ้งในสิ่งแวดล้อม ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วย

           แต่ถ้าหากเห็บมีปริมาณมากเกินกว่าจะจับออกด้วยวิธีการดึงได้ ให้ใช้วิธีการอาบน้ำยาแช่ทิ้งไว้ ร่วมกับการได้รับยาป้องกัน โดยวิธีที่เหมาะสมควรปรึกษาสัตว์แพทย์ร่วมด้วยเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

การป้องกัน

  • การป้องกันบนตัวสัตว์เลี้ยง ในปัจจุบันมีรูปแบบการป้องกันเห็บหลายรูปแบบให้เลือกใช้ โดยขึ้นกับความต้องการ ความสะดวก งบประมาณ และความเสี่ยงในการติดเห็บ สามารถปรึกษากับสัตวแพทย์ถึงรูปแบบการป้องกันที่เหมาะสมได้
    • แบบยาหยอด ความถี่ประมาณ 1 เดือนครั้ง บางชนิดมีข้อจำกัดคืองดอาบน้ำหลังหยอด 2 วัน
    • แบบยากิน ความถี่ 1 เดือน หรือ 3 เดือนครั้ง
    • แบบปลอกคอสวม ระยะเวลาในการป้องกันขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ ประมาณ 3 เดือน

แบบน้ำยาอาบน้ำหรือสเปรย์พ่น ส่วนมากไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันระยะยาว หวังผลให้เห็บที่อยู่บนตัวสุนัขตายหรือหลุดออก

  • การป้องกันในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็บอาศัยอยู่ตามธรรมชาติดังนั้นการป้องกันที่ได้ผลที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
    • ตัดหญ้าบริเวณสนามให้สั้น อย่าให้มีพงหญ้าสูง หรือพุ่มไำม้สูงรก หรืออับชื้น
    • กำจัดเศษใบไม้ตามโคนต้นไม้ใหญ่ให้สะอาดเป็นประจำ
    • ใช้น้ำยากำจัดเห็บราดตามพื้นบ้านด้านนอกหรือบริเวณจุดอับชื้น หรือที่สนามหญ้า
    • หลังจากสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านต้องตรวจสอบออุ้งเท้า บริเวณใบหน้า ในหู และหางว่ามีเห็บหรือไม่ ถ้ามีต้องกำจัดทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะเห็บอาจจะลงจากตัวสัตว์มาแพร่เชื้อในบ้านได้



บทความโดย สพ.ญ. นิรชรา ชมท่ไม้ (คลินิกอายรุกรรม, คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก) 

บรรณานุกรม

  • http://www.animalpicture.online/wp-content/uploads/thon/tick-bite-dog-pictures-hd-tick-bite-pictures-tick-inflammation-300ppi-flea-ticks-dogs-of-tick-bite-dog-pictures-1024x600.jpg