google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

โรคเนื้องอกระบบสือบพันธุ์ในสุนัข

เนื้องอกระบบสืบพันธุ์ติดต่อหรือ Canine transmissible venereal tumor 

 

เคสตัวอย่าง / อาการและการวินิจฉัย

ภาพความผิดปกติของอวัยวะเพศ มีอาการบวมมากกว่าปกติ

มองไม่เห็นว่าเป็นก้อนเนื้องอกจากภายนอก

 

  สุนัขพันธุ์ผสมเพศเมีย ยังไม่ทำหมัน อายุประมาณ 5 ปี มาด้วยอาการมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่อวัยวะเพศ เจ้าของสังเกตว่าก้อนโตขึ้นเรื่อยๆในระยะเวลา 1 เดือน และเริ่มมีเลือดสดไหลออกมาในช่วง 1-2 วัน ที่ผ่านมา จากการสอบถามประวัติเพิ่มเติม เป็นสุนัขเลี้ยงปล่อย อยู่แถวโรงงาน ไม่แน่ใจระยะเวลาการเป็นสัดหรือประวัติการผสม แต่ไม่เคยท้อง หรือฉีดยาคุม สุนัขยังร่าเริง ปัสสาวะอุจจาระได้ตามปกติ

         จากการตรวจร่างกายพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่  เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-30 cm ผิวขรุขระและมีก้าน(stalk) โดยพบตั้งแต่อวัยวะเพศด้านนอก(vulva) จนไปถึงช่องคลอด(vagina) สัตวแพทย์ได้ทำการตรวจเซลล์จากก้อนเนื้อ พบเซลล์เนื้องอกลักษณะรูปร่างกลม (round cell tumor) ขนาดใหญ่ นิวเคลียสกลม โครมาตินหยาบ พบแวคคิวโอลในไซโทพลาซึม จากผลตรวจดังกล่าวจึงสามารถวินิจฉัยได้ว่าสุนัขตัวนี้เป็นเนื้องอกระบบสืบพันธุ์ติดต่อหรือที่เรียกกันว่า Canine transmissible venereal tumor (CTVT) นอกจากนี้สุนัขยังได้รับการตรวจเลือด (complete blood count & blood chemistry test), ตรวจน้ำปัสสาวะ(urinalysis), เอกซเรย์และอัลตราซาวด์  จากผลการตรวจเลือดพบว่ามีภาวะโลหิตจางในระดับปานกลางจากการสูญเสียเลือดออกทางอวัยเพศ

          ผลปัสสาวะพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวค่อนข้างมาก มีแบคทีเรียเล็กน้อย บ่งบอกถึงการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ(Urinary tract infections) ผลเอกซเรย์ช่องอกและช่องท้องปกติ ไม่พบการแพร่กระจายของเนื้องอกหรือนิ่วที่ท่อทางเดินปัสสาวะ ผลอัลตราซาวด์พบว่ามีก้อนเลือดและการอักเสบค่อนข้างมากแทรกตัวอยู่ในก้อนเนื้องอก

ภาพแสดงลักษณะทางพยาธิวิทยาของเซลล์เนื้องอก (CTVT)

ที่มาภาพ  : https://www.divulgatum.com/2015/12/the-unleashed-cancer.html

สาเหตุ

           เนื้องอกระบบสืบพันธุ์ติดต่อหรือ Canine transmissible venereal tumor (CTVT) จัดเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง มีอัตราการแพร่กระจายต่ำ ประมาณ 5% โดยเฉพาะบริเวณต่อมน้ำเหลือง ไต ม้าม ตับ ตา สมอง กระดูก เป็นต้น เนื้องอกชนิดนี้พบได้ในกลุ่มสุนัข (Canis familiaris) โดยเฉพาะสุนัขจรจัดและสุนัขป่า พบได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ไม่จำกัดสายพันธุ์ เนื้องอกชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามตำแหน่งการเกิด คือ     

1.Genital transmissible venereal tumor; genital TVT ซึ่งรอยโรคมักเกิดที่อวัยวะเพศ ติดต่อโดยการผสมพันธุ์ ผ่านทางเยื่อเมือกที่มีการบาดเจ็บหรือถลอก ทำให้เกิดการฝังตัวของเซลล์เนื้องอกได้ง่าย เนื้องอกประเภทนี้โน้มนำทำให้เกิดการติดเชื้อย้อนกลับที่ท่อทางเดินปัสสาวะหรือทำให้ปิดรูทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งสัตว์จะแสดงอาการปัสสาวะลำบาก จากการโดนก้อนเนื้อเบียด ลักษณะก้อนเนื้อชนิดนี้คล้ายดอกกะหล่ำ(cauliflower-like mass) เป็นปุ่มยืนยาวหรือมีหลายก้อน เปราะและแตกง่าย จึงมักพบเลือดออกอยู่ที่ก้อนเนื้อเป็นประจำ

2. Extragenital transmissible venereal tumor; extragenital TVT โดยมีรอยโรคนอกเหนือไปจากอวัยวะเพศ เช่น ช่องปาก โพรงจมูก เยื่อบุตา และผิวหนัง เนื้องอกชนิดนี้ติดต่อโดยการสัมผัส การเลีย การสูดดม และทางบาดแผล ทำให้สัตว์แสดงอาการจาม เลือดกำเดาไหล น้ำตาไหล หรือมีกลิ่นปาก

           

การรักษา

           การรักษาเนื้องงอกชนิดนี้มีหลายวิธี เช่น การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy)  การฉายรังสี(Radiotherapy) การผ่าตัดศัลยกรรมและการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy) ซึ่งแต่ละวิธีตอบสนองต่อเนื้องอกและระยะเวลาในการกลับมาเป็นซ้ำต่างกัน ทางสัตวแพทย์ได้เลือกทำการรักษาเนื้องอกชนิดนี้ด้วยวิธีเคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดนี้ โดยใช้ยา Vincristine sulfate  ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวินคาแอลคาลอยด์ (Vinca alkaloids) ตัวยาจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเจริญเติบโตได้ โดยจะต้องทำการให้เคมีบำบัดจนกว่าจะตรวจไม่พบเซลล์เนื้องอกชนิดนี้อีกเลยจากการตรวจเซลล์ช่องคลอด (vaginal swab) ในทางปฏิบัติพบว่าก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลงจนเห็นได้ชัดตั้งแต่เข็มที่ 2  ตลอดระยะเวลาที่ได้รับเคมีบัด สุนัขจะได้รับยาบำรุงเลือด สารน้ำ และมีการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่เกิดจากการได้รับเคมีบำบัด ในช่วงแรกของการรักษาสุนัขได้รับยาฆ่าเชื้อ ยาลดอักเสบ และยาลดปวดสำหรับรักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย ซึ่งในบางเคสอาจจะไม่พบอาการแทรกซ้อนดังกล่าว

          หลังจากรักษาหายแล้วยังจำเป็นที่จะต้องกลับมาตามนัดตรวจมะเร็งและติดตามอาการกับคุณสัตวแพทย์เป็นระยะ การพยากรณ์เนื้องอกชนิดนี้ค่อนข้างดี สัตว์ตอบสนองต่อการรักษามีจำนวนน้อยที่เกิดอาการดื้อยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ทางสัตวแพทย์ได้แนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาทำหมัน แม้จะไม่มีผลต่อการรักษาแต่ก็ช่วยลดพฤติกรรมการผสม ซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อของเนื้องอกชนิดนี้ได้

 

บรรณานุกรม                      

  • Vail M.D., Page R., Ofri  R. and Withrow J.S. Withrow and MacEwen's Small Animal Clinical Oncology, 5 th ed. St. Louis, Saunders  Elsevier ; 2007:800-803.
  • Ganguly B., Das U. and Das A.K. Canine transmissible venereal tumour : a review. VCO. 2013;14(1):1-12.
  • Stockmann D., Ferrari F.H., Andrade L.A., Lopes A.R., Cardoso C.T. and Luvizotto C.R.M. Canine Transmissible Venereal Tumors: Aspects Related to Programmed Cell Death. BJVP. 2011; 4(1): 67-75.
  • อารยาพร มคธเพศ. (2560).  เคมีบำบัดในสุนัข.  ครั้งที่ 1.  ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

บทความโดย สพ.ญ.พัชรียา โนมายา (คลินิกอายุรกรรมและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)