โรคต่อมลูกหมากในสุนัข
โรคต่อมลูกหมากในสุนัข (Prostatic disorders) ต่อมลูกหมากเป็นต่อมเพศชนิดเดียวที่พบในสุนัข ตำแหน่งอยู่ทางช่องท้องด้านท้าย เป็นต่อมถัดจากกระเพาะปัสสาวะ ประกอบด้วยสองพูซ้ายและขวาโอบรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำหน้าที่สร้างน้ำต่อมลูกหมาก (prostatic fluid) ที่หลั่งออกมาในส่วนสุดท้ายของน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาตรน้ำเชื้อ สุนัขเพศผู้ที่พบปัญหาของต่อมลูกหมาก มักพบในสุนัขยังไม่ทำหมันและอาจมีปัญหาทางเดินปัสสาวะติดเชื้อร่วมด้วย โรคของต่อมลูกหมาก ได้แก่ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ มะเร็งต่อมลูกหมาก ในแต่ละปัญหาอาจเกิดร่วมกันได้ อาการหลักของโรคต่อมลูกหมาก มักมีปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างอักเสบ ขับอุจจาระลำบาก เบ่งถ่าย หากเรื้อรังหรือรุนแรงอาจเกิดร่วมกับปัญหาไส้เลื่อนข้างก้น หรือมีปัญหาต่อคุณภาพน้ำเชื้อ โดยน้ำเชื้อมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือมีเซลล์เนื้องอกปน |
รูปที่ 1 ลักษณะสีของน้ำเชื้ออสุจิ (หลอดที่ 1 น้ำเชื้อปกติ, หลอดที่ 2 และ 3 น้ำเชื้อที่ผิดปกติ มีเม็ดเลือด แดงปน ในสุนัขที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต) |
อาการ โรคต่อมลูกหมากโตเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของความไม่สมดุลในการเจริญและเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากที่มากกว่าการเสื่อมของเซลล์ อาการที่แสดงออกมักพบในสุนัขเพศผู้อายุมากกว่า 5 ปี ยังไม่ได้ทำหมัน บางตัวอาจเริ่มมีภาวะต่อมลูกหมากโตแต่ไม่แสดงอาการใดๆ ก็ได้ บางตัวอาจมีต่อมลูกหมากโตร่วมกับต่อมลูกหมากอักเสบ การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต อาจใช้ยากลุ่มช่วยลดขนาดต่อมลูกหมาก แต่การรักษาทางยามีผลเพียงชั่วคราวในระยะที่ใช้ยา ในสุนัขที่ไม่ต้องการเป็นพ่อพันธุ์แนะนำทำหมัน ซึ่งที่เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมและทำให้ขนาดต่อมลูกหมากเล็กลงอย่างถาวร โรคต่อมลูกหมากอักเสบ มักเกิดการอักเสบจากกการติดเชื้อแบคทีเรียจากระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ระดับความรุนแรงมีหลายแบบ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน ทำให้สัตว์แสดงอาการ การอักเสบชัดเจน ซึม ป่วย มีไข้ ค่าเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูง ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง การสะสมการติดเชื้อและการอักเสบบางรายกลายถุงฝีภายในต่อมลูกหมาก การรักษาจะทำรักษาการติดเชื้อและลักษณะฝีภายในต่อมลูกหมากให้หาย แล้วทำหมัน เพื่อลดขนาดและทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อลง ป้องกันการกลับมามีปัญหาของต่อมลูกหมาก บางกรณีฝีภายในต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ อาจจะพิจารณาการผ่าตัดต่อมลูกหมากและร้อยเยื่อบุช่องท้องเข้าไปแทนที่โพรงหนองในต่อมลูกหมาก (prostatic omentalization) เพื่อลดโพรงฝีและยังอาศัยเยื่อแขวนลำไส้ในการแพร่ยาเข้าสู่ภายในต่อมลูกหมาก ร่วมกับการทำหมัน |
รูปที่ 2 ภาพอัลตร้าซาวด์ผ่านผนังหน้าท้อง แสดงลักษณะเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากด้านตัดขวาง (transverse) ในสุนัขที่เป็นต่อลูกหมากอักเสบ |
สาเหตุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักพบในสุนัขเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว โดยเฉพาะรายที่ทำหมันตั้งแต่ก่อน 1 ปี โดยที่ยังไม่มีเหตุผลชี้แจงการเกิดได้อย่างชัดเจน สุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มักมีอาการเจ็บปวดรุนแรง อุจจาระลำบาก อุจจาระมีเลือดปน การพยากรณ์โรคต่ำ แนวทางการรักษาเพียงประคับประคองและระดับความเจ็บปวด เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การผ่าตัดต่อมลูกหมากอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แม้ว่าหลังการผ่าตัดในบางรายพบการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ช่องท้อง ผนังหน้าท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนที่เหลือ ส่วนการฉายรังสียังมีรายงานผลการรักษาต่อมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำ |
รูปที่ 3 ภาพเอ็กซเรย์ร่วมเทคนิคการฉีดสารทึบแสง แสดงขนาดและการกระจายสีที่ผิดปกติบริเวณท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ( prostatic urethra) ในสุนัขที่เป็นเนื้องอกต่อมลูกหมาก |
การวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัยแยกโรคและการติดตามการรักษาโรคของต่อมลูกหมาก ทำประกอบกันทั้งการตรวจร่างกาย ล้วงตรวจต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก การพิจารณาลักษณะเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากและหาขนาดต่อมลูกหมากด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ผ่านผนังหน้าท้อง การรีดเก็บน้ำเชื้อเพื่อตรวจเซลล์วิทยา และเพาะเชื้อแบคทีเรีย กรณีที่สุนัขมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยคุณภาพปัสสาวะ และเพาะเชื้อแบคทีเรียจากน้ำปัสสาวะร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าต่อมลูกหมากจะทำงานได้และพัฒนาขนาดเนื้อเยื่อด้วยปัจจัยของฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นการป้องกันโรคของต่อมลูกหมากทำได้โดยการทำหมันก่อนที่สุนัขอายุ 5 ปี และพาสุนัขตรวจสุขภาพประจำปี |
บทความโดย: สพ.ญ. ชื่นสุมน ลิ้มมานนท์ (คลินิกระบบสืบพันธุ์ โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก) แหล่งที่มาของรูป : รศ.สพ.ญ.เกษกนก ศิรินฤมิตร ศูนย์ระบบสืบพันธุ์ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ htwww.vetstream.com/treat/canis/diseases/prostate-neoplasia, Nov 16, 2017 |
|