google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

ภาวะตาแห้งในในสุนัข

 

ภาวะตาแห้งในสุนัข

ภาพแสดงสุนัขที่มีภาวะตาแห้ง กระจกตาอักเสบเรื้อรัง มีเส้นเลือดแทรกบนกระจกตา

และกระจกตาขุ่น เยื่อบุตาอักเสบแดง หนังตาที่สามยื่นโผล่ออกมาบริเวณหัวตา ร่วมกับมีภาวะหนังตาล่างตก 

 

                   ภาวะตาแห้ง (Keratoconjunctivitis sicca: KCS) เป็นภาวะที่ถูกพบได้บ่อยในสุนัข โดยมักพบในสุนัขสายพันธุ์ ดังนี้ Beagle, Boston Terrier, Boxer, Bulldog, Cavalier King Charles Spaniel, Chihuahua, Chow Chow, Cocker Spaniel, Dachshund, Jack Russell Terrier, Miniature Schnauzer,Lhasa Apso, Pekingese, Poodle, Pug, Shetland Sheepdog, Shih Tzu และสุนัขพันธุ์ผสม อาการที่พบได้แก่ กระจกตาอักเสบ ทำให้กระจกตาดูขุ่น ไม่ใส เยื่อบุตาแดงเนื่องจากเกิดการอักเสบ และมีขี้ตาที่เป็นมูกในปริมาณมากซึ่งมักเกาะติดกับกระจกตา สุนัขมักแสดงอาการหรี่ตา ไม่สบายตาเนื่องจากการเปิดปิดเปลือกตาขาดความลื่นไหล ในรายที่เป็นแบบเรื้อรังพบว่ามีเม็ดสีมาเกาะบนกระจกตา ทำให้กระจกเป็นสีดำทั้งแผ่นโดยภาวะนี้เกิดจากการหลั่งหรือการสร้างน้ำตาไม่เพียงพอ ตามปกติน้ำตาเป็นส่วนที่เคลือบอยู่บนกระจกตาและเยื่อบุตา ทำหน้าที่ป้องกันผิวกระจกตาจากความแห้งและจากเชื้อโรค ทำให้ผิวกระจกตาเรียบเพื่อการหักเหของแสงเป็นไปตามปกติ และหล่อลื่นผิวกระจกตาทำให้หนังตาเคลื่อนไปบนกระจกตาได้ด้วยความลื่น และนำอาหารมาหล่อเลี้ยงผิวกระจกตา โดยน้ำตาประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็น mucin ถูกสร้างมาจากเซลล์ globlet ที่บริเวณเยื่อบุตา ซึ่งเป็นน้ำตาส่วนชั้นในสุดติดกับกระจกตา ชั้นถัดมาคือส่วนที่เป็นน้ำ ถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตา (lacrimal gland) และต่อมหนังตาที่สาม (third eyelid gland) ซึ่งเป็นชั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของชั้นน้ำตา และสุดท้ายคือส่วนที่เป็นไขมัน ถูกสร้างมาจากต่อม meibomian และ gland of Zeis อยู่ที่บริเวณหนังตา โดยน้ำตาทั้ง 3 ส่วนจะเรียงกันเป็นชั้น ซึ่งชั้น mucin เป็นชั้นที่อยู่ด้านในสุด ติดกับกระจกตา ถัดมาคือส่วนที่เป็นน้ำ และชั้นนอกสุดคือชั้นไขมัน

สาเหตุของภาวะตาแห้ง มีดังนี้

  1. การขาดน้ำตาส่วน mucin  เนื่องจากเซลล์ globlet มีจำนวนลดลง โดยอาจเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตา
  2. การขาดน้ำตาส่วนที่เป็นน้ำ โดยส่วนมากเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันตนเองทำลายต่อมน้ำตา (autoimmune adenitis) นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจาก
  • การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตา
  • การติดเชื้อไข้หัดสุนัข
  • การกระพริบตาไม่สนิทเนื่องจากลูกตาโปนหรือเส้นประสาทที่มาเลี้ยงหนังตาเกิดการเสียหาย ซึ่งอาจเกิดจากการกระทบกระแทกบริเวณเบ้าตาหรือเกิดหลังจากการผ่าตัดที่ใบหู
  • การได้รับยาหยอดตาบางชนิด เช่น ยาขยายม่านตา
  • การมีภาวะต่อมของหนังตาที่สามโผล่ยื่น (cherry eye) ออกมาเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บต่อมกลับเข้าสู่ที่เดิม หรือเกิดจากการตัดต่อมหนังตาที่สามทิ้ง
  • กรณีสุนัขป่วยหรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • ต่อมน้ำตาส่วน lacrimal gland และ third eyelid gland ถูกทำลาย จากการฉายรังรังสีเพื่อรักษาเนื้องอกที่บริเวณใบหน้า

      3. การขาดน้ำตาส่วนชั้นไขมัน เกิดจากการอักเสบของหนังตา โดยเฉพาะบริเวณขอบหนังตา และการอักเสบของต่อม meibomian รวมทั้ง gland of Zeis

ชนิดของภาวะตาแห้ง แบ่งได้ดังนี้

  1. ภาวะตาแห้งจากการมีระดับน้ำตาลดลง เป็นภาวะที่มีการสร้างส่วนของน้ำตาชั้นที่เป็นน้ำลดลง ทำให้มีน้ำตาไม่เพียงพอมาคลุมบนกระจกตา ซึ่งภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันตนเองทำลายต่อมน้ำตา
  2. ภาวะตาแห้งจากการที่มีคุณภาพของน้ำตาลดลง  ตามปกติชั้นน้ำตาส่วนที่เป็นน้ำต้องการชั้น mucin เพื่อให้ส่วนที่เป็นน้ำเกาะยึดติดกับกระจกตา ในขณะเดียวกันชั้นไขมันที่อยู่ด้านนอกสุดของน้ำตามีส่วนช่วยไม่ให้น้ำตาไหลออกไปจากกระจกตาและลดการระเหยของน้ำตา ในสุนัขบางรายที่มีปัญหาการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรังทำให้การผลิต mucin ลดลง ทำให้น้ำตาส่วนที่เป็นน้ำเกาะยึดติดกับกระจกตาได้ไม่ดี และมักหลุดไหลออกไปจากกระจกตา ทำให้เกิดภาวะตาแห้งตามมา ในขณะที่สุนัขบางรายหากมีปัญหาหนังตาอักเสบแบบเรื้อรัง ทำให้การสร้างชั้นไขมันของน้ำตาลดลง ก็สามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้ในที่สุด
  3. ภาวะตาแห้งจากปัญหาของการลดกระจายของน้ำตาบนกระจกตา  ปัญหาโรคตาที่มักพบในสุนัขหน้าสั้นและมีลูกตาโต สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการที่น้ำตาไม่สามารถกระจายไปได้ทั่วทั้งกระจกตา โดยมักมาจากการที่มีระดับน้ำตาไม่เพียงพอ รวมทั้งสุนัขบางรายที่มีปัญหาของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงหนังตาเป็นอัมพาต ทำให้สุนัขไม่สามารถกระพริบหนังตาได้ หรือสุนัขบางรายที่มีปัญหาปิดตาไม่สนิทเวลานอน ทำให้เกิดภาวะตาแห้งตามมาได้

         ภาวะตาแห้งที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะตาแห้งจากการมีระดับน้ำตาลดลง ในสุนัขบางรายที่มีภาวะตาแห้งรุนแรงนั้นอาจพบว่าไม่มีน้ำตาชั้นที่เป็นน้ำหลงเหลืออยู่เลย ส่วนภาวะตาแห้งแบบอื่นที่พบได้บ้าง คือ ภาวะน้ำตามีคุณภาพต่ำ สาเหตุเนื่องมาจากการขาดน้ำตาชั้นส่วนที่เป็น mucin หรือขาดชั้นไขมัน และในสุนัขบางรายเกิดมาจากการมีปัญหาในการกระพริบของหนังตาบนและล่างที่ปิดชนกันไม่สนิท หรือหนังตาไม่สามารถกระพริบได้ ทำให้ลดการกระจายของน้ำตาไปทั่วกระจกตา

การวินิจฉัย

          ทำได้โดยดูจากประวัติและอาการ ร่วมกับการตรวจวัดระดับน้ำตา (Schirmer’s tear test: STT) โดยใช้กระดาษวัดระดับน้ำตา ซึ่งค่าปกติ คือ 15-25 มิลลิเมตรต่อนาที กรณีภาวะตาแห้งมักมีค่า STT ต่ำกว่าค่าปกติ

การรักษา

  1. ล้างตา ชำระล้างขี้ตาออกด้วยน้ำยาล้างตา ก่อนหยอดตา เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาสูงสุด
  2. หยอดยากระตุ้นการสร้างน้ำตา (cyclosporine) อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และอาจมากถึง 4 ครั้งต่อวัน ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะตาแห้ง ซึ่งโดยส่วนมากสุนัขที่มีภาวะตาแห้งมักต้องหยอดยาชนิดนี้ไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะในรายที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันตนเองทำลายต่อมน้ำตา
  3. หยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 4-6 ครั้ง โดยสามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมที่มีอยู่หลายชนิดให้เหมาะสมตามสภาพความรุนแรงของภาวะตาแห้ง และระดับน้ำตาที่วัดได้
  4. กรณีที่มีเยื่อบุตาแดง อักเสบมาก สามารถใช้ยาหยอดตาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ ซึ่งจะช่วยลดความแดงของเยื่อบุตา ลดการอักเสบของทั้งเยื่อบุตาและกระจกตา รวมทั้งยังลดการคัดหลั่งของขี้ตาลงด้วย แต่การใช้ยาลดการอักเสบต้องใช้ในรายที่ไม่มีแผลบนกระจกตาเท่านั้น ซึ่งต้องสั่งจ่ายการใช้ยานี้โดยสัตวแพทย์เท่านั้น

           สุนัขที่มีภาวะตาแห้ง มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การปล่อยให้สุนัขอยู่ในภาวะตาแห้งนาน มักเกิดมีข้อแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น แผลหลุมบนกระจกตา และสุนัขบางรายอาจมีเนื้องอกกระจกตาชนิด squamous cell carcinoma (SCC) เกิดตามมาได้

ภาพแสดงสุนัขที่มีภาวะตาแห้ง มีขี้ตาเป็นมูกเหนียวติดบนกระจกตา เยื่อบุตาและติดแห้งกรังบริเวณขอบหนังตาและขนตา

เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบเรื้อรังและมีเม็ดสี melanin มาสะสมในกระจกตาทั้งแผ่น

บรรณานุกรม

1. อารีย์ ทยานานุภัทร์ โรคตาในสุนัขและแมว 2560 หน้า 94-98.

2. Robin Stanley, Distance education ophthalmology: Module 5 Ocular discharge. Centre for veterinary education, 2017, 93-108.

 

บทความโดย : ผศ.น.สพ.ดร.บุรินทร์ นิ่มสุพรรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คลินิคโรคตา โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)