google-site-verification=G7snYi1Iu_QoF4keh_9xHi0_IDTFhBbfUuUax3VTDjY

ภาวะชักไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ภาวะชักไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ  

             ภาวะชัก (seizure) เป็นภาวะความผิดปกติที่พบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมว เราสามารถพบได้หลายรูปแบบทั้งมีความรุนแรงเล็กน้อย หรืออาจจะรุนแรงมากจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นทางเจ้าของสุนัขและแมวจึงควรรู้จักอาการและหมั่นสังเกตอาการของสุนัขและแมวบ่อย ๆ

ชักเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วน forebrain ประกอบไปด้วยสมองใหญ่ (cerebrum) และส่วนหน้าสุดของก้านสมองทาลามัส (thalamus) ซึ่งทำให้สัตว์มีอาการหมดสติเกิดการหดเกรงและหรือกระตุกของกล้ามเนื้อทั่งร่างกาย เรียกว่า generalize seizure  หรือบางครั้งมีอาการแค่บางส่วนของร่างกายหรืออวัยวะเช่นหน้ากระตุก เป็นต้นเราจะเรียกว่า partial seizure การชักสาเหตุเกิดได้ทั้งจากนอกสมอง (extracranial disorder) คือความผิดปกตินอกสมอง เช่น ระบบเมแทบอลิซึมในร่างกายผิดปกติ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แร่ธาตุในร่างกายต่ำ หรือเป็นโรคตับโรคไตและมีผลต่อของเสียในเลือดสูง หรือได้รับสารเคมีบางอย่าง ยาบางอย่างที่ทำให้เกิดการชักได้เป็นต้น และอีกสาเหตุเกิดจากในสมองเองเป็นได้ทั้งความผิดปกติทางการทำหน้าที่หรือ (functional disorder) คือมีการทำงานผิดปกติของเซลล์สมองเอง หรือความผิดปกติด้านโครงสร้าง (structural disorder)  เช่นโรค hydrocephalus กะโหลกแตกจากการถูกตีและทำให้กะโหลกไปกดเนื้อสมองแล้วทำให้เกิดการชักเป็นต้น

 

คำที่ใช้เรียกการชักในแบบต่างๆ   

Epileptic seizure เป็นอาการชักที่มีลักษณะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน เช่นชักเป็นประจำทุกเดือน เป็นต้น                                   

Cluster seizure เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นการชักที่ serious แล้วและจะต้องมีการเริ่มให้กินยากันชัก                   

Status epilepticus เป็นอาการชักรุนแรงต่อเนื่องมากกว่า 15 นาทีหรือเป็นการชักติดกันหลายครั้งโดยไม่มีระยะที่สัตว์กลับคืนสติเลย ซึ่งการชักชนิดนี้เป็นการชักที่รุนแรงทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ ต้องรีบรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

 

การวินิจฉัย

          สัตวแพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุของการชัก เช่น ตรวจนับเม็ดเลือด ตรวจค่าเคมีในเลือด การตรวจระดับน้ำตาล แร่ธาตุในเลือด การตรวจน้ำไขสันหลัง และฉายภาพสมอง (เช่น CT หรือ MRI) ข้อมูลเกี่ยวกับการชักที่เจ้าของสังเกตเห็น เช่น ช่วงที่เกิดอาการชัก ระยะเวลาที่เกิดอาการ และสิ่งที่สุนัขกำลังทำก่อนเกิดการชัก จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

การรักษาการชัก

          การรักษาการชักจะรักษาสาเหตุของการชักนั้นก่อน รวมกับให้ยากันชัก โดยการใช้ยากันชักจะเริ่มเมื่อมีชักมากกว่า 2 ครั้งใน 6 เดือน,การชักนั้นเป็นแบบ cluster seizure หรือ status epilepticus  ,การชักนั้นสัตว์ มี postictal sign > 24 ชั่วโมง หรือการชักครั้งนั้นเกิดจาก structural disorder เช่น การถูกตีและทำให้กะโหลกไปกดเนื้อสมองแล้วทำให้เกิดการชัก

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการชักไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ดังนั้นถ้าพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการชักเกิดขึ้นให้รีบมาพบสัตวแพทย์โดยเร็วเพื่อที่จะได้รีบทำการวินิจฉัยและทำการรักษาได้โดยเร็ว

 

บทความโดยนายสัตวแพทย์สมประสงค์  ชัยวิรัตน์ (คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)